ลูกชอบสำลักเวลาเข้าเต้า
ต้องยอมรับว่าการให้นมลูกน้อยในบางครั้ง ลูกชอบสำลักเวลาเข้าเต้า ซึ่งอาการสำลักนมเมื่อเข้าเต้าสร้างความกังวลใจให้กับคุณแม่อย่างมาก ๆ ในบทความนี้เราลองมาดูกันค่ะว่าการที่ลูกชอบสำลักเวลาเข้าเต้านั้นมีสาเหตุมาจากอะไร เมื่อลูกมีอาการสำลักนมจากเต้าควรมีวิธีป้องกันอย่างไร อันตรายหรือไม่ ตามอ่านได้เลยที่นี่
สาเหตุที่ลูกชอบสำลักเวลาเข้าเต้า
สำหรับสาเหตุที่ลูกน้อยมีอาการสำลักนมแม่ อาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยภายใน ซึ่งเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางด้านร่างกายของเด็ก ๆ เอง หรือปัจจัยภายนอกซึ่งเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมภายนอกอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการกินนมของทารก ดังนี้ค่ะ
ลูกสำลักนมจากเต้าด้วยเหตุปัจจัยภายใน
- เด็กแรกเกิดมักมีพัฒนาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารที่ยังไม่สมบูรณ์แข็งแรง เช่น ภาวะหูรูดทางเดินอาหารที่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ทำให้มีผลต่อการกินนม อาจมีอาการสำลักหรือสำลอกนมออกมาได้
- เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ หรือปอด ทำให้ทารกหายใจเร็ว ไม่เป็นจังหวะ อาจทำให้เกิดการสำลักนมได้ขณะกินนม
- พัฒนาการที่ล่าช้าของทารกบางคน หรือทารกที่มีประวัติการชัก จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะสำลักนมได้มากกว่า
ลูกสำลักนมจากเต้าด้วยเหตุปัจจัยภายนอก
- วิธีการให้นมไม่ถูกต้อง เช่น การใช้อุปกรณ์อื่น ๆ ค้ำขวดนมเวลาให้นม การปล่อยให้ลูกนอนกินนมเอง การป้อนนมขณะที่ลูกร้องไห้หรือขณะหลับอยู่
- ปริมาณนมในกระเพาะที่มากเกินไป เช่น เวลาที่คุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกร้องไห้ ก็จะคิดเองว่าลูกหิวนม และให้นมลูกกินทุกครั้งที่ร้อง เมื่อในกระเพาะอาหารของลูกมีนมอยู่เต็มกระเพาะ ก็จะสำลักนมออกมาได้นั่นเอง เพราะฉะนั้นต้องสังเกตว่าลูกร้องเพราะอะไรมากกว่าจะรีบให้นมลูกกันนะคะ
- สำลักน้ำนมแม่ที่พุ่งเกินไป คุณแม่บางคน ร่างกายผลิตน้ำนมออกมามาก ทำให้เวลาลูกดูดน้ำนมจะไหลเร็ว เมื่อทารกกลืนไม่ทันก็จะทำให้สำลักน้ำนมแม่ได้
- การเลือกใช้จุกนมผิดขนาดและไม่เหมาะกับวัยของทารก ทำให้น้ำนมไหลออกมาเร็วและแรงกว่าที่ลูกจะสามารถกลืนลงไปได้ทัน ทำให้เด็ก ๆ สำลักนมแม่เวลาเข้าเต้า คล้ายกับกรณีคุณแม่ที่น้ำนมพุ่งค่ะ
ลูกชอบสำลักเวลาเข้าเต้าอันตรายหรือไม่
การสำลักนมเวลาเข้าเต้าของลูกน้อย เกิดจากการที่มีสิ่งแปลกปลอมหล่นเข้าไปในช่องคอหรือหลอดลม และเกิดการกีดขวางบริเวณช่องทางการหายใจ ทำให้มีการหายใจผิดจังหวะ หรือหายใจเข้าออกไม่เป็นปรกติ
ซึ่งหากมีอาการสำลักนมแม่ที่รุนแรง อาจเกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นแบบเฉียบพลัน เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
การที่ลูกชอบสำลักนมเวลาเข้าเต้าพบว่า อาจมีไม่มากที่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้นะคะ เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรป้องกัน และหลีกเลี่ยงไม่ให้ทารกมีอาการดังกล่าวจะดีที่สุดค่ะ
อาการเมื่อลูกสำลักนมแม่
- การสำลักน้ำนมเพียงเล็กน้อย เด็ก ๆ อาจมีอาการไอ ขย้อนน้ำนมออกมา ไอเล็กน้อย 2-3 ครั้ง แล้วก็จะหายได้เอง เหมือนเวลาที่เราสำลักน้ำนั่นเองค่ะ
- สำหรับอาการสำลักน้ำนมที่ต้องรีบพาทารกไปพบแพทย์ คือ เด็กจะมีเสียงหายใจผิดปรกติ มีเสียงครืดคราดขณะหายใจ ไอแรงจนตัวเขียวหน้าเขียวได้เลยทีเดียว
- อาการสำลักน้ำนมไม่จำเป็นต้องเกิดเฉพาะขณะที่แม่ให้นมลูกก็ได้ แต่อาจเกิดขึ้นเวลาที่ลูกนอน เกิดจากการที่หูรูดกระเพาะของลูกยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ทำให้ขย้อนนมออกมาในเวลาที่ลูกนอนราบได้นั่นเอง
วิธีการป้องกันเมื่อลูกชอบสำลักเวลาเข้าเต้า
1.ปรับท่าให้นมลูกในลักษณะที่ถูกต้อง คือให้ลูกนอนเอียง 45 องศาเวลาดูดนม ให้ศีรษะอยู่สูงกว่ากระเพาะ เพื่อให้น้ำนมไหลลงกระเพาะได้ดีและสะดวก
2.หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ค้ำขวดนมเวลาให้นม เพราะอาจทำให้น้ำนมไหลเร็วและแรงเกินไป อีกทั้งการที่ไม่มีผู้ใหญ่อยู่ใกล้ เวลาลูกสำลักนมจะช่วยเหลือได้ไม่ทัน
3.หลังการให้นม จับลูกอุ้มพาดบ่าเพื่อจับเรอทุกครั้ง หรือเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยให้จับนั่งมือหนึ่งประคองใต้คางลูกเบา ๆ อีกมือตบ และลูบหลังขึ้นเบาๆ เป็นการไล่ลม แก๊สในกระเพาะ และเป็นช่วงเวลาให้น้ำนมไหลลงกระเพาะนั่นเอง
4.เลือกจุกนมให้เหมาะสมกับวัยเด็ก จุกนมมีหลายขนาดและตัวรูที่จุกนมก็มีหลายแบบ แต่ละแบบมีปริมาณการไหลของน้ำนมที่ต่างกัน คุณแม่ควรเลือกให้เหมาะสมและถูกต้องตามวัยลูกค่ะ
5.ถ้าลูกดูดนมจากขวดให้สังเกตดูว่ามีฟองอากาศเล็ก ๆ ในขวดสูงประมาณ 2-3 มิลลิเมตร หมายความว่าการดูดของลูกมีจังหวะที่พอดี
6.คุณแม่ที่น้ำนมไหลเร็วหรือน้ำนมพุ่ง ให้ปรับท่าให้นมเป็นการนอนหรือกึ่งนั่งกึ่งนอน โดยวางลูกน้อยให้ดูดนมบนอก เมื่อลูกอยู่สูงกว่าเต้านม ก็จะช่วยลดแรงพุ่งของน้ำนมแม่ลงได้ค่ะ
ทำอย่างไรเมื่อลูกสำลักนมจากเต้า
หากพบว่าลูกมีอาการสำลักน้ำนม ให้คุณพ่อคุณแม่ปฏิบัติดังนี้ค่ะ
1.คุณพ่อคุณแม่ตั้งสติ และห้ามอุ้มลูกขึ้นทันทีนะคะ
2.ให้จับจับลูกนอนตะแคง ให้ศีรษะเด็กต่ำลง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำนมไหลย้อนกลับลงไปที่ปอด ถ้าเป็นการสำลักเพียงเล็กน้อย เด็ก ๆ จะหายได้เอง
3.อาการสำลักรุนแรง ถ้าเด็กยังรู้สึกตัวแต่พบว่าไม่หายใจ แปลว่ามีการอุดตันทางเดินหายใจแบบสมบูรณ์
- ให้รีบจับเด็กคว่ำหน้าลง วางลำตัวเด็กบนตัก หัวให้อยู่ระหว่างเข่าในระดับที่ต่ำกว่าลำตัว แล้วเอามือเคาะที่หลัง 5 ครั้ง
- ถ้ายังไม่หายใจ ให้ทำ Chest thrust โดยให้หงายเด็กขึ้นวางบนตัก อยู่ในท่าหัวต่ำ แล้วให้ผู้ช่วยเหลือทำนิ้วสองนิ้ว กดลงไปแรง ๆ บนกระดูกหน้าอก ทำสลับไปจนกว่าจะหายใจหรือร้องได้
อาการ ลูกชอบสำลักนมเวลาเข้าเต้า สามารถเกิดขึ้นได้เสมอนะคะ คุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาป้องกันไม่ให้เด็ก ๆ ต้องเสี่ยงต่ออันตราย และยังสามารถใช้เทคนิคต่าง ๆ ในบทความนี้ป้องกันลูกน้อยจากการสำลักนมได้ด้วยเช่นกัน
———-
ติดต่อเราผ่านช่องทางต่างๆ
โทร : 082-699-1659 (ฝ่ายขาย)
Line : @Kidminute
Facebook Page : Kid Minute Fanpage
Facebook Chat : Kid Minute
ช่องทางอื่นๆ : https://rakbaby.com/contact-us/