อาการครรภ์เป็นพิษ มีอาการแบบไหน อันตรายหรือไม่

อาการครรภ์เป็นพิษ อันตรายไหม เป็นอย่างไร ลักษณะอาการแบบไหนควรรีบรักษาอย่างด่วนจี๋

อาการครรภ์เป็นพิษ

อาการครรภ์เป็นพิษ คือ ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ระหว่างตั้งครรภ์ และยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ภายในช่วงระยะ 48 ชั่วโมงหลังการคลอดอีกด้วย อาการที่พบมากในคุณแม่ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ คือ ความดันสูงเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท 

ภาวะครรภ์เป็นพิษยังไม่มีสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนี้แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การทำงานผิดปกติของรกในครรภ์ ภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ หรือมดลูกได้รับเลือดไม่เพียงพอจนทำให้เกิดครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น 

ซึ่งอาการครรภ์เป็นพิษที่ว่านี้สามารถเกิดได้แม้คุณแม่มีสุขภาพแข็งแรงดี ภาวะครรภ์เป็นพิษ จึงเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตและช่วยกันระมัดระวัง เพราะเป็นอัตรายถึงชีวิตได้ ถ้าหากมีอาการครรภ์เป็นพิษเกิดขึ้นควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไปค่ะ  

อายุครรภ์เท่าไหร่ เสี่ยงเกิดอาการครรภ์เป็นพิษ

โดยทั่วไปภาวะครรภ์เป็นพิษมักเกิดหลังอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ และคุณแม่จะยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้จนถึง 48 ชั่วโมงหลังคลอด 

อาการครรภ์เป็นพิษอันตรายไหม

ต้องบอกเลยว่า ภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะที่ก่อให้เกิดผลเสียและอาจเป็นอันตรายอย่างมากต่อทั้งคุณแม่และทารกในท้อง โดยสามารถแบ่งภาวะครรภ์เป็นพิษ ออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่

1. อาการครรภ์เป็นพิษระดับไม่รุนแรง คือ ตรวจพบว่าคุณแม่จะมีความดันโลหิตสูงระหว่าง 140/90 ถึง 160/110 มิลลิเมตรปรอท แต่ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ

2. อาการครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรง คือ ตรวจพบว่าคุณแม่มีความดันโลหิตสูงกว่า 160/110 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป และตรวจพบภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น มีภาวะตับอักเสบ เกร็ดเลือดต่ำ ไตทำงานผิดปกติหรือทำงานได้น้อยลง

3. อาการครรภ์เป็นพิษระดับอันตราย คือ พบว่าคุณแม่จะมีอาการ ชัก เกร็ง และหมดสติ ซึ่งหากพบอาการดังกล่าวจะต้องได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุดเพราะอาจจะทำให้คุณแม่และลูกน้อยเสียชีวิตได้

เมื่อเกิดภาวะอาการครรภ์เป็นพิษขึ้น คุณแม่และทารกอาจมีความเสี่ยงอื่น ๆ แทรกซ้อนขึ้นมาได้ ได้แก่

  • การคลอดก่อนกำหนด ในบางครั้งแพทย์อาจต้องตัดสินใจให้ทำการคลอดก่อนกำหนด เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับทารกและตัวคุณแม่เอง ซึ่งการคลอดก่อนกำหนดก็จะมีผลต่อสุขภาพของลูกน้อยได้โดยตรง
  • รกลอก อันตรายจากภาวะครรภ์เป็นพิษอาจส่งผลให้รกเกิดลอกหรือหลุดออกก่อนกำหนดได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น คุณแม่จะเกิดอาการเลือดออกอย่างมากมีผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ทั้งคู่
  • การเติบโตของทารกไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากทารกรับสารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตได้น้อยลง เช่น สารอาหาร ออกซิเจน เป็นต้น อาจส่งผลให้ทารกมีน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐานได้
  • ความเสียหายต่ออวัยวะส่วนอื่น ๆ ได้แก่ ความเสียหายจากภาวะครรภ์เป็นพิษที่หัวใจ ปอด ตับ ไต เป็นต้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการครรภ์เป็นพิษนั่นเอง
  • อาการชัก อย่างที่ได้แจ้งไปเบื้องต้น อาการชัก เกร็ง เป็นสัญญาณอันตรายอย่างมาก มีผลต่อทารกในครรภ์และตัวคุณแม่ เมื่อมีอาการชัก แพทย์อาจจำเป็นต้องให้ทำการยุติการตั้งครรภ์เพื่อความปลอดภัย
  • อาการ HELLP เป็นภาวะที่ร่างกายคุณแม่เกิดความเสียหายจากอวัยวะหลายจุด โดยไม่มีสัญญาณแจ้งล่วงหน้า คุณแม่สามารถสังเกตได้จากอาการ ปวดศีรษะ อาเจียน คลื่นไส้ เป็นต้น อาการ HELLP นับว่ามีความรุนแรงอย่างมากถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยค่ะ  

อาการครรภ์เป็นพิษแบบไหนควรไปพบแพทย์

เมื่อมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือน ครรภ์เป็นพิษ คุณแม่ควรรีบเข้าพบแพทย์ทันทีเพื่อวินิจฉัยถึงความรุนแรงของภาวะที่คุณแม่กำลังเป็นอยู่ค่ะ อาการต่าง ๆ ที่เป็นสัญญาณภาวะเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ ได้แก่ 

  • อาการเบื้องต้น เช่น สังเกตได้ว่าคุณแม่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติเฉลี่ย 1-2 ก.ก.ต่อสัปดาห์ ทั้ง ๆ ที่ทานปริมาณเท่าเดิม มีอาการบวมน้ำตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น แขน ขา เท้า เปลือกตา เป็นต้น หรือ อาการวิงเวียนศีรษะ อาเจียน จุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ สายตาพล่ามัว 
  • สังเกตว่าทารกในท้องดิ้นน้อยลงกว่าปกติ 
  • มีความดันสูงมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท โดยตรวจพบความดันระดับนี้ 2 ครั้งภายใน 4 ชั่วโมง

อาการบางอย่างก็ไม่มีสัญญาณเตือนที่ชัดเจน ดังนั้นเมื่อสงสัยว่าเกิดความปกติที่เสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ ให้รีบพบแพทย์ทันที

อ่านเพิ่มเติม : คนท้องเท้าบวม กี่วันคลอด เกิดจากสาเหตุอะไร เป็นอันตรายไหม พร้อมวิธีการป้องกันอย่างละเอียด

วิธีการรักษาภาวะครรภ์เป็นพิษ 

วิธีการรักษาคุณแม่ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ แพทย์จะวินิจฉัยถึงความรุนแรงของอาการและรักษาตามความเหมาะสมโดย

  • อาการครรภ์เป็นพิษที่ไม่รุนแรง หากพบว่ามีอาการไม่รุนแรงคุณแม่จะสามารถกลับบ้านได้ แต่จะต้องมาพบแพทย์ตามที่กำหนดเพื่อตรวจร่างกายและเฝ้าระวังอาการ นอกจากนี้คุณแม่จะต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ และทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  • อาการครรภ์เป็นพิษรุนแรง หากพบว่าคุณแม่มีภาวะท้องเป็นพิษรุนแรง คุณแม่จำเป็นต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด คุณแม่จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และจะได้รับยาที่จำเป็นต่อการรักษา และมีการตรวจร่างกายเป็นประจำเพื่อเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด 

ภาวะครรภ์เป็นพิษ เมื่อเกิดขึ้นแล้วสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายของคุณแม่และทารกได้เป็นอย่างมาก คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยเฝ้าระวังและสังเกต อาการครรภ์เป็นพิษ ระหว่างตั้งครรภ์ของคุณแม่อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้การฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าตั้งท้องก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงได้ เพราะจะได้รับการดูแลที่ใกล้ชิดจากแพทย์ตลอดการตั้งครรภ์นั่นเองค่ะ

———-
ติดต่อเราผ่านช่องทางต่างๆ
โทร : 082-699-1659 (ฝ่ายขาย)
Line : @Kidminute
Facebook Page : Kid Minute Fanpage
Facebook Chat : Kid Minute
ช่องทางอื่นๆ : https://rakbaby.com/contact-us/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *