ครรภ์เป็นพิษ
ภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือ Preeclampsia เป็นภาวะที่มีความอันตรายอย่างมาก ๆ ต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ ภาวะครรภ์เป็นพิษคืออาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาและทราบถึงอาการต่าง ๆ เกี่ยวกับครรภ์เป็นพิษที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพื่อที่จะสามารถเข้ารับการดูแลรักษาจากแพทย์ได้อย่างทันท่วงที เพื่อความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และลูกน้อยนั่นเอง
ครรภ์เป็นพิษ คืออะไร
ครรภ์เป็นพิษ คือ ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในช่วงที่มารดาตั้งครรภ์ หรือช่วงหลังคลอด ครรภ์เป็นพิษ พบได้ในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่แม้จะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี อาการทั่วไปของสตรีที่เป็นโรคครรภ์เป็นพิษ เช่น มีความดันโลหิตสูง มักมีอาการมือ หน้า ขา และเท้าบวม มีอาการมึนและปวดศีรษะ อาเจียน เป็นต้น ส่วนสาเหตุการเกิดครรภ์เป็นพิษยังไม่แน่ชัด แต่สามารถสรุปปัจจัยที่ทำให้คุณแม่มีความเสี่ยงภาวะครรภ์เป็นพิษ ได้แก่
- คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ขณะอายุน้อยกว่า 20 ปี หรือมากกว่า 35 ปีมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ
- คุณแม่ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก
- คุณแม่ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐานเสี่ยงครรภ์เป็นพิษได้ง่าย
- การตั้งครรภ์แฝด หรือตั้งครรภ์ทารกมากกว่า 1 คน
- คุณแม่เคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษ หรือคนในครอบครัวมีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจ
- คุณแม่ที่มีบุตรยาก หรือตั้งครรภ์โดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
- คุณแม่มีที่ภาวะเลือดแข็งตัวง่าย และมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
ภาวะครรภ์เป็นพิษอันตรายหรือไม่
ภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ ถือเป็นภาวะที่อันตรายถึงขั้นอาจมีความเสี่ยงทำให้เสียชีวิตได้ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดครรภ์เป็นพิษโดยตรง
ครรภ์เป็นพิษเกิดจากสาเหตุอะไร
ภาวะครรภ์เป็นพิษเป็นภาวะแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งยังไม่สามารถระบุสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดครรภ์เป็นพิษของคุณแม่ได้ แต่ก็มีข้อสมมติฐานต่าง ๆ ที่ทางการแพทย์คาดเดาถึงสาเหตุต่าง ๆ ของการเกิด ภาวะครรภ์เป็นพิษ ได้แก่
- สาเหตุครรภ์เป็นพิษจากการทำงานผิดปกติของรกในครรภ์ ทำให้มีสารบางชนิดถูกผลิตออกมาเพื่อ กระตุ้นให้หลอดเลือดหดตัวอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูง
- ท้องเป็นพิษ เกิดจากภาวะโปรตีน หรือไข่ขาวรั่วออกมาปะปนอยู่ในปัสสาวะ
- มดลูกได้รับเลือดไม่เพียงพอจนทำให้เกิดครรภ์เป็นพิษ
- ระบบภูมิคุ้มกันเกิดความผิดปกติจนครรภ์เป็นพิษ
- สาเหตุจากการฝังตัวของรกบริเวณผนังมดลูกที่ไม่ปกติ ส่งผลให้มีออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเด็กทารกในครรภ์ไม่เพียงพอ และเกิดการหลั่งสารพิษบางอย่างเข้าสู่กระแสเลือดจนเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา
อาการครรภ์เป็นพิษ
อาการของครรภ์เป็นพิษ มักประกอบด้วยหลาย ๆ อาการ บางอาการอาจไม่แสดงออกรุนแรงมาก แต่หากคุณแม่สงสัยว่าตนเองกำลังมีอาการดังต่อไปนี้ ให้รีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน เพราะอาจเป็นสัญญาณอัตรายที่เตือนว่าคุณแม่กำลังอยู่ในภาวะครรภ์เป็นพิษนั่นเองค่ะ
1.คุณแม่มีภาวะความดันโลหิตสูงมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท โดยตรวจพบระดับความดันสูงในลักษณะนี้ 2 ครั้งในระยะห่างอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
2.ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ มากกว่า 300 มิลลิกรัมภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง
3.สังเกตว่าน้ำหนักตัวคุณแม่เพิ่มขึ้นเร็วมากกว่าปกติ แม้รับประทานอาหารเท่าเดิม ซึ่งสาเหตุมาจากอาการบวมน้ำ โดยปกติน้ำหนักตัวของคุณแม่จะเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 0.5 กิโลกรัม แต่คุณแม่ที่เป็นโรคนี้มักมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 1-2 กิโลกรัมต่อสัปดาห์
4.มีอาการบวมตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น บริเวณหน้าแข้ง หากลองใช้นิ้วกดลงแล้วมีรอยบุ๋ม หรือมีเปลือกตาบวม มือบวม เท้าบวม
5.มีอาการวิงเวียน มึน ปวดศีรษะ สาเหตุหนึ่งมาจากภาวะความดันโลหิตที่สูงขึ้น
6.มีอาการคลื่นไส้อาเจียน
7.จุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ หายใจลำบาก
8.สายตาพร่ามัว
9.สังเกตได้ว่าทารกดิ้นน้อยลงผิดปกติ
อ่านเพิ่มเติม : คนท้องเท้าบวม กี่วันคลอด เกิดจากสาเหตุอะไร เป็นอันตรายไหม พร้อมวิธีการป้องกันอย่างละเอียด
อาการที่มักเห็นได้ชัดในภาวะครรภ์เป็นพิษ คือ ความดันโลหิตที่สูง ซึ่งถ้าคุณแม่ยิ่งพบสัญญาณผิดปกติข้ออื่นรวมด้วย ขอให้รีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย และเพื่อทำการดูแลรักษาต่อไปค่ะ
การป้องกันครรภ์เป็นพิษ
คุณแม่สามารถป้องกันภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ ได้ด้วยการปฏิบัติดังต่อไปนี้
- งดอาหารเค็มจัด
- ดื่มน้ำให้เพียงพอวันละ 6-8 แก้ว
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ขยับเขยื้อนร่างกายบ้าง ออกกำลังเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ
- งดสุรา เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอร์ทุกชนิด งดกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- พยายามให้เท้าสูงกว่าหัวใจเล็กน้อยเวลานั่งหรือนอน
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และพยายามลดการบริโภคของมัน ๆ
- ควรไปตรวจครรภ์ตามนัดเป็นประจำทุกครั้ง เพื่อที่แพทย์จะได้ช่วยตรวจความดันเลือด และตรวจปัสสาวะ ซึ่งเป็นการตรวจเช็คอาการครรภ์เป็นพิษ
ครรภ์เป็นพิษหลังคลอด
ภาวะครรภ์เป็นพิษยังสามารถเกิดขึ้นได้หลังจากที่คุณแม่คลอดลูกด้วยค่ะ โดยมักจะเกิดภายในระยะเวลาระหว่างช่วง 48 ชั่วโมงแรกหลังคลอด โดยอาการหลัก ๆ ที่พบได้ก็คือภาวะความดันโลหิตสูงผิดปกติ ซึ่งถ้าแพทย์ประเมิณว่าคุณแม่ยังมีความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ แม้จะคลอดลูกน้อยแล้วก็ตาม ก็ต้องมีการเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ในชั่วโมงที่ยังมีความเสี่ยงดังกล่าวอยู่นั่นเอง
คุณพ่อคุณแม่ที่อ่านมาถึงตรงนี้ อาจมีความกลัว และเป็นกังวลอยู่ไม่น้อย Kidminute อยากย้ำเตือนว่า การตั้งครรภ์ของคุณแม่และช่วงเวลาของการอุ้มท้องลูกน้อย เป็นความสุขที่วิเศษที่สุดของคนเป็นพ่อเป็นแม่อย่างแน่นอน เมื่อรู้แล้วว่า ครรภ์เป็นพิษ คือความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดขึ้น เมื่อทราบว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ ก็ควรรีบไปฝากครรภ์ทันที เพื่อที่จะได้อยู่ในความดูแลของคุณหมอ และทราบแนวทางการปฏิบัติตัวเพื่อความปลอดภัยของแม่และลูกตลอดการตั้งท้องนั่นเองค่ะ
———-
ติดต่อเราผ่านช่องทางต่างๆ
โทร : 082-699-1659 (ฝ่ายขาย)
Line : @Kidminute
Facebook Page : Kid Minute Fanpage
Facebook Chat : Kid Minute
ช่องทางอื่นๆ : https://rakbaby.com/contact-us/
Pingback: อาการครรภ์เป็นพิษ มีอาการแบบไหน ขอบอกเลยว่าอันตรายมาก คุณแม่ต้องอ่าน !